ตามที่กฎหมายกำหนดให้โรงงานต้องติดอุปกรณ์พิเศษเพื่อวัดค่ามลพิษทางอากาศแบบต่อเนื่อง หรือ CEMS นั้น หากโรงงานของท่านเข้าข่ายโรงงานที่จำเป็นต้องติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อวัดมลพิษทางอากาศและรายงานผลไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ท่านคงจะทราบดีอยู่แล้วว่าท่านต้องรีบดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ผิดกฏหมาย
CEMs กลายเป็นหัวข้อที่ผู้ประกอบการสนใจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมกันอย่างต่อเนื่อง และเมื่อท่านคิดว่ารู้ทุกอย่างเกี่ยวกับการติดตั้ง CEMs แล้ว ไม่ว่าจะเป็นจากการศึกษาด้วยตัวเองทางอินเตอร์เน็ต หรือการศึกษาโดยการคุยกับผู้เชี่ยวชาญ บางท่านอาจจะติดตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วด้วยซ้ำ
บางท่านอาจจะคิดว่า “รอดแล้ว” กำลังจะวางใจว่าจะไม่ถูกปรับหรือถูกลงโทษด้วยการหยุดการผลิตหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของกรมโรงงานฯ
แต่..
ทราบหรือไม่ครับว่าเครื่องวัดวิเคราะห์ (Analyzer) ของท่าน เมื่อติดตั้งแล้วนั้น… จำเป็นจะต้องมีการบำรุงรักษาและการเทียบสอบมาตรฐาน หรือที่เราเรียกภาษาช่างว่า “การ Calibrate” เป็นระยะๆตามเวลาที่โรงงานผู้ผลิตเครื่องมือวัดวิเคราะห์ของท่านกำหนดไว้ด้วย และหากท่านละเลยอาจส่งผลให้การอ่านค่ามลพิษผิดพลาด และมีผลทางกฏหมายด้วยเหมือนกันนะครับ
อีกหนึ่งสิ่งที่ท่านต้องทราบเกี่ยวกับการเทียบสอบมาตรฐาน คือ ท่านจำเป็นจะต้องมีแก๊สหรือสารเคมีเก็บไว้ภายในโรงงานของท่านเพื่อใช้ในกระบวนการสอบเทียบเครื่องมือ และในการครอบครองแก๊สหรือสารเคมีสำหรับสอบเทียบเครื่องมือนั้น ท่านจะต้องได้รับใบอนุญาตครอบครองจาก แผนกใบอนุญาต กองควบคุมยุทธภัณฑ์และพัฒนาอุตสาหกรรม กรมการอุตสาหกรรมทหาร ก่อนด้วยนะครับ
ก่อนจะเข้าเรื่องไปถึงขั้นตอนการขอใบอนุญาตครอบครองแก๊สยุทธภัณฑ์ ด้านล่างนี่เป็นบทความอื่นๆที่ท่านอาจจะสนใจครับ :
“รู้หรือไม่? ไม่รายงานผลไปกรมโรงงาน เสี่ยงโดนปรับหลักแสน!!!”
“ไม่พร้อมติด CEMs !! ขยายเวลาได้ไหม ?”
“วิธีนี้ ! สามารถลดค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง CEMs ลงได้ถึง 70% !”
“5 ส่วนประกอบหลักของ CEMs”
“ถึงเวลาต้องทำความรู้จักกับ CEMs แล้วหรือยัง ?”
ตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 แก๊สหรือสารเคมีบางชนิดหากเข้าข่ายเป็นสารเคมีที่ใช้ในการสงครามเคมีหรือใช้เป็นส่วนผสมของวัตถุระเบิด ตามประกาศกระทรวงกลาโหม กำหนดให้ต้องขออนุญาตหากจำเป็นต้องมีไว้ในครอบครอง และหากบริษัทผู้ผลิตเครื่องวิเคราะห์ของท่านระบุว่า ท่านจะต้องมี..
CO (Carbon Monoxide) และ/หรือ HF (Hydrogen fluoride)
ไว้ใช้สำหรับการ calibrate เตรียมเอกสารเพื่อดำเนินการขออนุญาตได้เลยครับ
หากไม่ได้รับอนุญาตก่อน และท่านดำเนินการสั่งเข้ามา, นำเข้ามา, ผลิต, หรือมีไว้ในครอบครอง ถือเป็นเรื่องผิดกฏหมาย ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 50,00 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับเลยครับ
ซึ่งการขออนุญาตก็จะมีความยุ่งยากของการเตรียมเอกสารในระดับหนึ่ง มีขั้นมีตอนที่ท่านต้องปฏิบัติตามเป็น STEP กล่าวคือ ต้องทำ A ให้เสร็จก่อนถึงจะทำ B ได้ แบบนี้เป็นต้น วันนี้เราจะมาค่อยๆทำความเข้าใจวิธีการขออนุญาตครอบครองแก๊สที่ใช้ในการเทียบสอบมาตรฐานเครื่องมือวัดวิเคราะห์กันครับ
จากหนังสือทรัพยากรอิเล็กทรอนิกส์ เรื่อง ข้อมูลเผยแพร่แก่ประชาชน ของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม จากเว็บไซท์ https://data.go.th/ ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ระบุไว้ว่า
“การขอรับใบอนุญาตสั่งเข้ามา นำเข้ามา ผลิต และมีซึ่งยุทธภัณฑ์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.๒๕๓๐ จะต้องผ่านการตรวจสอบประวัติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าไม่มีคุณสมบัติตามข้อห้าม และผ่านการตรวจสอบสถานที่ผลิต หรือเก็บยุทธภัณฑ์ว่ามีความเหมาะสมปลอดภัย แล้วจึงมาดำเนินการยื่นคำขอรับใบอนุญาตพร้อมเอกสารหลักฐานต่อ กรมการอุตสาหกรรมทหารฯ นำเรียนตามสายการบังคับบัญชาจนถึงปลัดกระทรวงกลาโหม มีกำหนดระยะเวลาตั้งแต่การยื่นคำขอ จนแล้วเสร็จไม่เกิน ๔๕ วันทำการ”
ขออนุญาตสรุปเพื่อให้เข้าใจง่ายๆนะครับ
ขั้นตอนที่ 1: ดำเนินการเรื่องการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม
ขั้นตอนที่ 2: ส่งคำขอตรวจสอบสถานที่เก็บยุทธภัณฑ์จากกองควบคุมยุทธภัณฑ์และพัฒนาอุตสาหกรรม กรมการอุตสาหกรรมทหาร ต้องให้มั่นใจครับว่าสถานที่เก็บของท่านปลอดภัย
ขั้นตอนที่ 3: เจ้าหน้าที่เดินทางไปตรวจสอบสถานที่เก็บยุทธภัณฑ์
ขั้นตอนที่ 4: ผลประวัติอาชญากรรมเสร็จสิ้นได้รับเอกสารเรียบร้อย ตรวจสอบสถานที่เก็บยุทธภัณฑ์เรียบร้อย
ขั้นตอนที่ 5: ยื่นแบบย.ภ.1 (หรือแบบย.ภ.6 ในกรณีต่ออายุใบอนุญาต) พร้อมด้วยเอกสารแนบอื่นๆ เพื่อดำเนินการในลำดับถัดไปในเรื่องของการขอใบอนุญาต และรอผล
โดยรายการเอกสารที่ท่านจะต้องเตรียมเพื่อดำเนินการในแต่ละขั้นตอน (อ้างอิงข้อมูลจากกรมการอุตสาหกรรมทหาร) มีดังนี้
1 รายการเอกสารประกอบการยื่นขอสอบประวัติ
1.1 สำเนาหนังสือรับรองบริษัท
1.2 สำเนาหนังสือมอบอำนาจ
1.3 สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านกรรมการบริษัท
1.4 สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านผู้รับมอบอำนาจ
2 รายการเอกสารประกอบการยื่นขอนัดตรวจสถานที่เก็บยุทธภัณฑ์
2.1 สำเนาหนังสือรับรองบริษัทฯ
2.2 สำเนาหนังสือมอบอำนาจ ติดอากรแสตมป์ 30 บาท
2.3 - สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านกรรมการบริษัท (กรณีคนไทย)
- สำเนาหนังสือเดินทางและใบอนุญาตทำงาน (กรณีชาวต่างชาติ)
2.4 สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านผู้รับมอบอำนาจ
2.5 ใบสำคัญการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท
2.6 ภพ.20
2.7 ใบประกอบกิจการโรงงานทั้ง 10 ลำดับ หรือ กนอ. ที่ผ่านการชำระค่าธรรมเนียมแล้ว
2.8 แผนที่และแผนผังสถานที่เก็บยุทธภัณฑ์
2.9 ข้อมูลความปลอดภัยของยุทธภัณฑ์/สารเคมี
2.10 คุณสมบัติหรือคุณลักษณะของยุทธภัณฑ์/สารเคมี
2.11 สำเนาใบอนุญาตฉบับเดิม และ ย.ภ.8 สามเดือนย้อนหลัง (กรณีที่เคยได้รับใบอนุญาตแล้ว)
3 รายการเอกสารประกอบการยื่นคำขออนุญาตยุทธภัณฑ์
3.1 แบบยภ.1
3.2 สำเนาหนังสือรับรองบริษัท
3.3 หนังสือมอบอำนาจ ติดอากร 30 บาท
3.4 สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านกรรมการบริษํท
3.5 สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านผู้รับมอบอำนาจ
3.6 ใบสำคัญการจดทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท
3.7 ภพ.20
3.8 ใบประกอบกิจการโรงงาน (ทั้ง 10 ลำดับ)/กนอ.ผ่านการชำระค่าธรรมเนียมแล้ว
3.9 แผนที่และแผนผังสถานที่เก็บยุทธภัณฑ์
3.10 ข้อมูลความปลอดภัยของยุทธภัณฑ์/สารเคมี
3.11 คุณสมบัติหรือคุณลักษณะของยุทธภัณฑ์ที่ขออนุญาต
3.12 สำเนาใบอนุญาตฉบับเดิม และ ย.ภ.8 สามเดือนย้อนหลัง (กรณีที่เคยได้รับใบอนุญาตแล้ว)
หลังจากกระบวนการทุกอย่างเสร็จสิ้นและท่านได้รับใบอนุญาตแล้ว ให้ท่านศึกษาและทำความเข้าใจเงื่อนไขและข้อปฏิบัติของใบอนุญาต เนื่องจากโทษของผู้ที่มีใบอนุญาตแต่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบและเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต แรงพอๆกับผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตเลยครับ
ข้อมูลเรื่องขั้นตอนและรายการเอกสารที่ต้องใช้ในการขออนุญาตที่กล่าวถึงในบทความนี้ เป็นข้อมูล ณ วันที่เขียนบทความนี้เท่านั้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ก่อนการดำเนินการใดๆเพื่อป้องกันการผิดพลาดและเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ขอให้ท่านเช็คข้อมูลอีกครั้งก่อนดำเนินการ
โดยท่านสามารถเช็คข้อมูลได้จาก
1. แผนกใบอนุญาต
กองควบคุมยุทธภัณฑ์และพัฒนาอุตสาหกรรม
กรมการอุตสาหกรรมทหาร
โทร. 0 2243 6075 , 0 2241 4049 ต่อ 610
หรือ 2. สอบถามกับทางเรา
โทร. 033 - 060389 หรือ คลิกที่นี่ เพื่อสอบถามผ่าน LINE OA ได้เลยครับ
เชื่อมั่นอย่างยิ่งครับว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้าง ไม่มากก็น้อยนะครับ ต้องขออนุญาตย้ำว่า ข้อบังคับหรือข้อกำหนด ขั้นตอนต่างๆในการขอใบอนุญาตอาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น เราแนะนำอย่างยิ่งเลยครับให้ท่านตรวจสอบกับหน่วยงานหรือผู้เชี่ยวชาญก่อนการดำเนินการ
หากเราสามารถช่วยอะไรท่านได้ ติดต่อเราได้เสมอนะครับ